Journal Issue: RSjournal Vol. 19 No. 1
Issued Date
2566
Resource Type
Language
tha
File Type
application/pdf
Access Rights
open access
Rights
ผลงานนี้เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ขอสงวนไว้สำหรับเพื่อการศึกษาเท่านั้น ต้องอ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า
Rights Holder(s)
สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Journal Volume
RSjournal Volume 19
(2566)
Articles
การมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุไทยที่มีความพิการ ทางการเห็นหรือการได้ยิน
(2566) นรา ขำคม; ปารณีย์ วิสุทธิพันธุ์; Nara Khamkhom; Paranee Visuttipun
การมีส่วนร่วมทางสังคมเป็นดัชนีชี้วัดการสูงวัยอย่างประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุที่มีความพิการทางการเห็นหรือการได้ยินมักจะแยกตัวออกจากสังคม เป็นเหตุให้ผู้สูงอายุเหล่านี้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวและกดดัน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและกายในท้ายที่สุด มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ทำการศึกษาถึงองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุไทยที่มีความพิการทางการเห็นหรือการได้ยินยังมีอยู่อย่างจำกัด ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในการนำมาปรับใช้เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุที่มีความพิการทางการเห็นหรือการได้ยิน การศึกษานี้จึงได้จัดทำขึ้นบนความพยายามที่จะเติมช่องว่างความรู้ในประเด็นดังกล่าว ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามาจากโครงการสำรวจประชากรสูงอายุไทย พ.ศ. 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาคือเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 38,671 คน แบบจำลองโลจิตที่ตัวแปรตามมีสองกลุ่มได้ถูกนำมาใช้ในการหาความสัมพันธ์ระหว่างการมีส่วนร่วมทางสังคมและความพิการทางการเห็นหรือการได้ยิน ผลจากการศึกษาพบว่าความพิการทางการเห็นไม่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่มีความพิการทางการได้ยินมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน (OR = 0.885, 95%, CI = 0.803-0.975) และกิจกรรมในหมู่บ้าน (OR = 0.894, 95%, CI = 0.805-0.992) น้อยกว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีความพิการทางการได้ยิน เช่นเดียวกัน ผู้สูงอายุที่มีความพิการทั้งการเห็นและการได้ยินมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มทางสังคม (OR=0.738,95%, CI=0.670-0.831) และกิจกรรมในชุมชน (OR=0.694, 95%, CI = 0.627-0.767) น้อยกว่าผู้สูงอายุกลุ่มอื่น ๆ ภาวะถดถอยทางร่างกายและจิตใจเนื่องจากการสูงวัยประกอบกับการขาดการสนับสนุนจากบุตรธิดาอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ลดลง ผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษานี้จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีความพิการทางการเห็นและการได้ยินให้ดีขึ้น
ผลของดนตรีบำบัดรูปแบบเสมือนจริงที่มีต่อทักษะการคิดเชิงบริหารของเด็กที่มีภาวะออทิสซึม: การวิจัยกรณีศึกษาเดี่ยว
(2566) ธีร์ดา รูปสุวรรณ; นัทธี เชียงชะนา; อำไพ บูรณประพฤกษ์; Teeda Rupsuwan; Natee Chiengchana; Ampai Buranaprapuk
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของดนตรีบำบัดรูปแบบเสมือนจริงที่มีต่อทักษะการคิดเชิงบริหาร 5 ด้าน ประกอบด้วยความจำเพื่อการใช้งาน การยั้งคิดไตร่ตรอง การยืดหยุ่นความคิด การควบคุมอารมณ์ และการวางแผน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยกรณีศึกษาเดี่ยวแบบผสมระหว่างการวิจัยแบบ ABA Single-Case Design และ Qualitative Single-Case Design ในเด็กที่มีภาวะออทิสซึม กิจกรรมดนตรีบำบัดออนไลน์จัดขึ้นทั้งสิ้น 8 ครั้งสำหรับเด็กชายที่มีภาวะออทิสซึมอายุ 5 ปีและมารดา เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลได้แก่ แบบประเมินพัฒนาการด้านความคิดเชิงบริหาร (MU.EF-101) และแบบประเมินปัญหาพฤติกรรมด้านความคิดเชิงบริหาร (MU.EF-102) คะแนนของทักษะการคิดเชิงบริหารถูกวิเคราะห์โดยใช้กราฟ แบบบันทึกการสังเกต และแบบสัมภาษณ์ผู้ปกครองถูกนำมาใช้เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับทักษะการคิดเชิงบริหารของเด็ก ผลวิจัยพบว่า ในช่วง Baseline A1 คะแนนเฉลี่ยของพัฒนาการด้านความคิดเชิงบริหารจาก MU.EF-101 เท่ากับ 94.50 และคะแนนเฉลี่ยของปัญหาพฤติกรรมด้านความคิดเชิงบริหารจาก MU.EF-102 เท่ากับ 60 ระหว่างช่วงบำบัด คะแนน MU.EF-101 เพิ่มมากขึ้นจนถึง 111 และคะแนน MU.EF-102 ลดลงจนถึง 38.5 ในช่วง Baseline A2 คะแนนเฉลี่ยของ MU.EF-101 เท่ากับ 112.50 และ MU.EF-102 เท่ากับ 34.67 จากผลวิจัยสรุปได้ว่า ดนตรีบำบัดรูปแบบเสมือนจริงมีผลต่อการส่งเสริมทักษะการคิดเชิงบริหารในเด็กที่มีภาวะออทิสซึม
การศึกษาการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษาพิการทางการได้ยินระดับปริญญาตรี
(2566) ศักดา โกมลสิงห์; สุจิตรา เขียวศรี; ธีรศักดิ์ ศรีสุรกุล; Sakda Komonsing; Suchittra Kheowsri; Teerasak Srisurakul
การศึกษาการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษาพิการทางการได้ยินระดับปริญญาตรีมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านลักษณะส่วนบุคคลของนักศึกษาพิการทางการได้ยินระดับปริญญาตรีกับการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ทำการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาพิการทางการได้ยินจำนวน 118 คน ด้วยวิธีการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง 17 แห่ง จากการคำนวณสัดส่วนจำนวนนักศึกษาพิการทางการได้ยินในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในประเทศไทย โดยส่งแบบสอบถามเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในรูปแบบ Google form พร้อมคลิปวีดิทัศน์คำอธิบายภาษามือไทย ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1) ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทั่วไปของนักศึกษาพิการทางการได้ยิน 2) ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษาพิการทางการได้ยินให้ผู้ประสานงานในมหาวิทยาลัย ส่งต่อให้นักศึกษาพิการทางการได้ยินสแกนผ่าน QR Code และเก็บรวบรวมแบบสอบถามในปีการศึกษา 2564 ใช้สถิติเชิงบรรยาย และสถิติอ้างอิงในการอธิบายข้อมูล สรุปผลการทดสอบสมมติฐานด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ ANOVA และเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกรายการที่มีความจำเป็นอยู่ในระดับมาก ได้แก่ โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ ล่ามภาษามือ แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ วีดิทัศน์ทบทวนการสอน และคำบรรยายแทนเสียง ในขณะที่รายการที่มีความจำเป็นอยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ผู้ช่วยจดคำบรรยาย เครื่องช่วยฟัง และอักษรวิ่ง ส่วนปัจจัยด้านลักษณะส่วนบุคคที่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในการใช้งานเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก มีดังนี้ ด้านชั้นปีที่กำลังศึกษาส่งผลให้เกิดความแตกต่างในการใช้แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ ด้านสาขาวิชาที่เรียนส่งผลให้เกิดความแตกต่างในการใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ และล่ามภาษามือ ด้านระดับการได้ยินในปัจจุบันส่งผลให้เกิดความแตกต่างในการใช้เครื่องช่วยฟัง และล่ามภาษามือ ด้านวิธีการสื่อสารส่งผลให้เกิดความแตกต่างในการใช้เครื่องช่วยฟัง แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ วีดิทัศน์ทบทวนการสอน และล่ามภาษามือ ด้านโรงเรียนหรือสถาบันที่เคยศึกษามาก่อนส่งผลให้เกิดความแตกต่างในการใช้เครื่องช่วยฟัง โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน และล่ามภาษามือ ในขณะที่ความแตกต่างด้านระยะเวลาที่เกิดความพิการและการผ่าตัดประสาทหูเทียม ไม่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในการใช้งานเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก
Title
RSjournal Vol. 19 No. 1
Author's Affiliation
มหาวิทยาลัยมหิดล. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. สถาบันราชสุดา