GJ-Proceeding Document

Permanent URI for this collectionhttps://repository.li.mahidol.ac.th/handle/20.500.14594/124

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 20 of 58
  • ItemOpen Access
    ความสัมพันธ์ของภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยและโรคเบาหวาน
    (ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2024-05-30) ชินไตร ถาวรลัญฉ์
    ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทำให้ลดความสามารถในการทำกิจวัตร เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนและเพิ่มอัตราการเสียชีวิต ทั้งสองภาวะนี้มีความสัมพันธ์กันในด้านพยาธิกำเนิดที่พบร่วมกันและเกี่ยวข้องกัน เช่น กระบวนการอักเสบ (inflammation) ภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) adiposity และ advance glycation end products (AGEs) นอกจากนี้ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยยังมีความสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานอีกด้วย ทั้งภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก
  • ItemOpen Access
    รายงานผู้ป่วยการเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกหลังการได้รับยาอิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคระบบประสาทกิลแลงบาร์เร
    (ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2024-05-30) อภิชญา บุญสิริฉาย; เจนจิรา กิตติวรภัทร; ศิริกัญญา รุ่งเรือง; ฉัตรี หาญทวีพันธุ์
    อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำ (IVIG) เป็นยาที่ใช้เพื่อเป็นยาทดแทนในภาวะการขาดแอนติบอดี และเพื่อใช้เป็นสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิต่อต้านตนเองหรือภาวะการอักเสบของร่างกาย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคทางโลหิตวิทยาและโรคทางระบบประสาทต่างๆ ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกที่สัมพันธ์กับ IVIG เป็นผลข้างเคียงของ IVIG ที่พบไม่บ่อยและยังคงไม่ได้รับการนึกถึง แม้จะมีการใช้ผลิตภัณฑ์ IVIG กันอย่างกว้างขวาง อุบัติการณ์ของภาวะเม็ดเลือดแดงแตกที่สัมพันธ์กับ IVIG นี้ยังไม่ทราบแน่ชัด ปัจจัยเสี่ยงของภาวะเม็ดเลือดแดงแตกที่สัมพันธ์กับ IVIG ได้แก่ กรุ๊ปเลือดของผู้รับที่ไม่ใช่เลือดกรุ๊ปโอ การได้รับยา IVIG ขนาดสูง และผลิตภัณฑ์ IVIG ที่มีระดับของแอนติบอดี้เอ/บีสูง ผู้จัดทำรายงานผู้ป่วยหญิงอายุ 62 ปี กรุ๊ปเลือดเอ มาด้วยอาการชาปลายมือปลายเท้า และอ่อนแรงแขนขาสองข้างซึ่งต่อมาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร (Guillain-Barre syndrome) และได้รับการรักษาโดยยา IVIG ในขนาดสูง คือ 2 กรัม/กิโลกรัม หลังจากได้รับ IVIG ภายในสัปดาห์แรก ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางเฉียบพลันร่วมกับมีหลักฐานที่ทำให้สงสัยภาวะเม็ดเลือดแดงแตก จึงได้รับการรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์หลังจากนั้นระดับฮีโมโกลบินค่อยๆดีขึ้นจนกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกหลังการได้รับยา IVIG ได้เป็นอย่างดี โดยผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ คือ มีกรุ๊ปเลือดเอ การได้รับยา IVIG ในขนาดสูงเป็นโรคที่มีอาการอักเสบทางระบบประสาท นอกจากนี้กระบวนการผลิต IVIG ที่ทำให้มีค่าแอนติบอดี้ชนิดเอสูงก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคโลหิตจางในผู้ป่วยรายนี้ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกหลังได้รับยา IVIG นี้ เป็นภาวะที่พบได้โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกหลังได้ยา IVIG ดังนั้นหลังการให้ IVIG ควรตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงห้าถึงสิบวันแรกเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และให้การรักษาอย่างทันท่วงที
  • ItemOpen Access
    สังคมเทคโนโลยีพยาบาลผ่าตัดและความปลอดภัยของผู้ป่วย
    (ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2024-05-30) วราภรณ์ พันธ์ผาด
    ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การเกิดโรคอุบัติใหม่ วิถีการดำเนินที่ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้มีเรื่อง เทคโนโลยีเข้ามาสอดแทรกในชีวิตประจำวัน รวมถึงมีความหลากหลายของอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์มากขึ้น การเกิดอุบัติการณ์ความไม่พร้อมของเครื่องมือผ่าตัด พยาบาลห้องผ่าตัดมีความจำเป็นต้องมีความรู้ ความสามารถ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการเรียนรู้และการปรับปรุง พัฒนาทักษะของตัวเอง อยู่ตลอดเวลา โดยการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ตลอดชีวิตและ การจุดประกาย ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีและการเข้าถึงสารสนเทศที่มีคุณภาพได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลา บทความนี้จะนำ เสนอแนวโน้มของระบบสาธารณสุขโลก ผ่านมุมมองของพยาบาลห้องผ่าตัด และนำเสนอ ด้านคุณลักษณะและทักษะที่จำเป็นของพยาบาล ห้องผ่าตัดในยุคเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตและทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อผลลัพธ์สูงสุดคือความปลอดภัยของผู้ป่วย
  • ItemOpen Access
    การบริหารห้องผ่าตัดในเวลาราชการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกในยุคดิจิทัล
    (ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2024-05-30) สกุลไทย ศรีหินกอง; อารยา รักศรีอักษร
    ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เป็นโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินงานให้บริการผ่าตัดในระดับทุติยภูมิ มีเป้าหมายในการดำเนินการขององค์กรที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ภายใต้การนำนโยบายของต้นสังกัดมาใช้ในการบริหารจัดการห้องผ่าตัดให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล จากการปฏิบัติงานของผู้เขียนพบว่า การบริหารจัดการห้องผ่าตัดของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มีการนำโปรแกรม SSB มาใช้ในการบันทึกข้อมูลการใช้ห้องผ่าตัด และใช้การสื่อสารโดยโทรศัพท์แจ้งข้อมูลผู้ป่วยตามแนวทางปฏิบัติแล้วบันทึกข้อมูลลงในแบบบันทึก ซึ่งเกิดปัญหาหลายด้านและเกิดอุบัติการณ์ข้อมูลผิดพลาด ส่งผลให้เกิดการเข้าใช้ห้องผ่าตัดยังไม่ถึงความสามารถที่ห้องผ่าตัดรองรับได้ ทั้งด้านเวลาและทรัพยากรที่มี ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการเข้ารับการรักษา สูญเสียโอกาสในการพัฒนาความก้าวหน้าขององค์กรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การพัฒนาแนวทางการบริหารห้องผ่าตัดในยุคดิจิทัลเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการเป็นเลิศตามยุทธศาสตร์ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกจะต้องมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนากระบวนการทำงาน เพื่อการบริหารจัดการห้องผ่าตัดอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จะช่วยพัฒนาองค์กรให้เป็นเลิศ ลดการผิดพลาดจากการปฏิบัติงาน ส่งผลให้การใช้ห้องผ่าตัดเป็นไปอย่างคุ้มค่าตามความสามารถของทรัพยากรและบุคลากร รวมถึงสร้างความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและคุณภาพในการปฏิบัติงานขององค์กรได้อย่างยั่งยืน
  • ItemOpen Access
    ภาวะการอักเสบและหนาตัวของเยื่อหุ้มสมอง
    (ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2024-05-30) ศิริกัญญา รุ่งเรือง; วรเศรษฐ์ สายฝน
    การอักเสบและหนาตัวของเยื่อหุ้มสมองเป็นภาวะที่พบได้น้อย เกิดการอักเสบและหนาตัวของเยื่อหุ้มสมองชั้นดูราทั้งแบบจำกัดเฉพาะที่หรือแบบกระจาย ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ ส่วนที่ทราบสาเหตุเกิดได้จาก autoimmune disease ได้แก่ IgG4 related disease การติดเชื้อเรื้อรัง เช่น ติดเชื้อวัณโรค หรือเกิดจากเนื้องอกได้แก่ เนื้องอกเยื่อหุ้มสมองเองหรือจากการกระจายจากอวัยวะอื่นมาที่เยื่อหุ้มสมอง และภาวะอื่น ๆ อาการและอาการแสดงสัมพันธ์กับตำแหน่งกายวิภาคและความรุนแรงของระบบประสาทที่ถูกกดเบียด ที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะ อัมพาตของเส้นประสาทสมอง เช่น ใบหน้าอ่อนแรง การมองเห็นภาพผิดปกติ เป็นต้น ผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว และ ให้การรักษาที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและทุพพลภาพ
  • ItemOpen Access
    พยาบาลวิชาชีพ Generation C กับการทำงานเป็นทีม : ความท้าทายสำหรับผู้บริหารการพยาบาลสู่ยุค 5.0
    (ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2024-05-30) ปานฤทัย บุญมา
    พยาบาลวิชาชีพในปัจจุบันมีหลากหลาย Generation นอกจากการแบ่งกลุ่มตามช่วงอายุแล้ว ยังมีการแบ่งกลุ่มตามลักษณะทางพฤติกรรมศาสตร์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่ถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ จึงจัดกลุ่มบุคคลในยุคปัจจุบันว่าเป็นพยาบาลวิชาชีพ Generation C โดยการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลนั้นจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมท่ามกลางความหลากหลาย ทั้งลักษณะเฉพาะของช่วงวัยที่แตกต่างกัน รูปแบบในการปฏิบัติงาน รวมถึงความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ความหลากหลายดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานร่วมกันได้ ส่งผลต่อผลลัพธ์ทางการพยาบาล และภาพรวมขององค์การพยาบาล ผู้บริหารการพยาบาลเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานขององค์การพยาบาลในยุคปัจจุบัน ต้องใช้กลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนให้มีการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1) เข้าใจความแตกต่างของ Generation 2) สร้างแรงจูงใจในทีมพยาบาล 3) ชี้นำทีมการพยาบาลสู่เป้าหมายชัดเจน และ 4) การบริหารงานอย่างรวดเร็ว ทันทีทันใด เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของยุคแห่งเทคโนโลยี การเข้าใจและคำนึงถึงความแตกต่างของพยาบาลวิชาชีพในทีมสุขภาพ และดึงศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีของพยาบาลวิชาชีพ Generation C มาช่วยขับเคลื่อนและเชื่อมโยงการปฏิบัติการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพในทีมสุขภาพเข้าด้วยกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับยุคดิจิทัล 5.0 ในอนาคต
  • ItemOpen Access
    ปัจจัยเสี่ยงและการรักษาภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยและโรคเบาหวาน
    (ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2024-05-30) ชินไตร ถาวรลัญฉ์
    ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นปัญหาสาธารณสุขที่กำลังอุบัติขึ้น ในปัจจุบันการรักษาภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ยังไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง การป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ การตรวจวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น รวมถึงรักษาเบาหวานที่มักพบร่วมกัน จึงสำคัญมาก
  • ItemOpen Access
    การพัฒนากระบวนการพยาบาลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องและครอบครัว : รูปแบบการให้บริการที่หน่วยล้างไตทางช่องท้องร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ณ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
    (ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2024-05-30) ณัฐชมนต์ วรพัฒน์วัชรกุล; ชลชญา บุญจันทร์ตรี
    ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่เลือกรับการรักษาบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้อง (Continuous ambulatory peritoneal dialysis: CAPD) นั้นเป็นวิธีการรักษาโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่องที่บ้าน ซึ่งพยาบาลเฉพาะทางมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้การดูแลล้างไตทางช่องท้องประสบความสำเร็จเริ่มตั้งแต่ คอยให้คำปรึกษา การให้ความรู้ การสอน แก้ไขปัญหา ภาวะแทรกซ้อน การเสริมพลัง ตลอดจนดูแลจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานวิชาชีพ ในรูปแบบการให้บริการที่หน่วยล้างไตทางช่องท้องที่ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ
  • ItemOpen Access
    ภาวะการกดเบียดระบบประสาทไขสันหลังจากโรคมะเร็ง
    (ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2024-05-30) วรเศรษฐ์ สายฝน; ศิริกัญญา รุ่งเรือง; ธนันต์ จิตรวัชรโกมล
    Malignant spinal cord compression (MSCC) คือ ภาวะการกดเบียดระบบประสาทไขสันหลังซึ่งเกิดจากมะเร็งลุกล้ำกระดูกสันหลังหรือเนื้อเยื่อข้างเคียง ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดทุพพลภาพทั้งในด้านการเคลื่อนไหว การรับรู้ความรู้สึก การขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ หากการดำเนินโรครวดเร็วหรือไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลาอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน นำไปสู่คุณภาพชีวิตและอัตราการรอดชีวิตที่ลดลง จึงเป็นภาวะฉุกเฉินทางโรคมะเร็งที่มีความสำคัญเร่งด่วน ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็วและให้การรักษาที่เหมาะสมโดยแพทย์สหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง แพทย์รังสีรักษา ประสาทศัลยแพทย์หรือศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และควรได้รับการดูแลทางจิตใจร่วมด้วยเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
  • ItemOpen Access
    ไวรัสตับอักเสบอี : ทบทวนวรรณกรรมอย่างละเอียด
    (ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2024-05-30) อัชฌา สืบสังข์
    ไวรัสตับอักเสบอีถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1980 จากการระบาดของโรคตับอักเสบเฉียบพลันที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ปัจจุบัน การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดชนิดหนึ่งของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเฉียบพลันทั่วโลก ไวรัสตับอักเสบอีที่พบบ่อยในมนุษย์คือสายพันธุ์ 1,2,3 และ 4 โดยสายพันธุ์ 1 และ 2 ติดต่อผ่านทางการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาจเกิดตับอักเสบรุนแรงได้โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ สายพันธุ์ 3 และ 4 พบได้ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ติดต่อผ่านทางการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก สัตว์รังโรคที่พบบ่อยที่สุด คือ หมู กลุ่มอาการของผู้ป่วยมีได้หลากหลายตั้งแต่ไม่มีอาการ ตับอักเสบเฉียบพลัน ตับวายเฉียบพลัน หรือตับอักเสบเรื้อรังในกลุ่มผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องและกลุ่มอาการภายนอกตับได้หลายระบบ การวินิจฉัยยืนยันทางห้องปฏิบัติการยังทำได้จำกัดทั่วโลก ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการดีขึ้นตอบสนองต่อการรักษาประคับประคอง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีไม่มีการรักษาจำเพาะ Ribavirin และ PEGylated-interferon-alpha อาจพิจารณาใช้ในการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีเฉพาะราย
  • ItemOpen Access
    ผลของการใช้เครื่องช่วยออกกำลังกายชนิดแสดงผล (GJ Biofeedback) สำหรับการออกกำลังกายหลังในผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่าง
    (2017) ศิวรักษ์ ขนอม; นิดา วงศ์สวัสดิ์
    อาการปวดหลังส่วนล่างเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญพบได้บ่อยที่สุดในโรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยเกิดขึ้นได้ทั้งกับวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังคือ การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว ทั้งกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลัง ดังนั้น การออกกำลังกายเสริมความมั่นคงให้กับกล้ามเนื้อหลังอาจช่วยลดอาการปวดหลังและเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมได้ การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้เครื่องช่วยออกกำลังกายชนิดแสดงผล (GJ Biofeedback) สำหรับการออกกำลังกายหลังในผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่าง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างที่มารับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดมีความคล้ายคลึงกัน คือ อายุ ดัชนีมวลกาย และคะแนนอาการปวดหลังส่วนล่างสุ่มให้อยู่ในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 ราย กลุ่มทดลองได้รับการรักษาทางการแพทย์และทางกายภาพบำบัดร่วมกับการออกกำลังกายเสริมความมั่นคงของกล้ามเนื้อหลังในขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับการรักษาทางการแพทย์ ร่วมกับการรักษาทางกายภาพบำบัด จำนวน 10 ครั้ง เป็นเวลา 5 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เครื่องมือที่ใช้ดำเนินการศึกษา คือ เครื่องช่วยออกกำลังกายชนิดแสดงผล(GJ Biofeedback) แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดระดับความปวดด้วยการมอง และแบบแสดงความเห็นระดับความพึงพอใจต่อการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล ใช้สถิติเชิงพรรณนาเปรียบเทียบคะแนนอาการปวดหลังส่วนล่างที่ลดลง ใช้สถิติ Wilcoxon Signed Ranks test เปรียบเทียบคะแนนอาการปวดหลังที่ลดลงของ 2 กลุ่มใช้สถิติt-test ที่เป็นอิสระต่อกันผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังทั้ง 2 กลุ่ม มีคะแนนอาการ ปวดหลังลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p<0.05) ผู้ป่วยในกลุ่มออกกำลังกายเสริมความมั่นคงของกล้ามเนื้อหลังโดยใช้เครื่องช่วยออกกำลังกายชนิดแสดงผล (GJ Biofeedback) มีอาการปวดหลังลดลงดีกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายเสริมความมั่นคงของกล้ามเนื้อหลัง โดยใช้ GJ Biofeedback สามารถช่วยลดอาการปวดหลังได้และสามารถใช้เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการออกกำลังกายเสริมความมั่นคงของกล้ามเนื้อหลัง
  • ItemOpen Access
    ความเหมาะสมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาต้านจุลชีพแบบคาดการณ์ อย่างเหมาะสมที่โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิแห่งหนึ่ง : การศึกษาเชิงพรรณนา
    (2023) อังศุนิตย์ พรคทาทัศน์; สถาพร ขนันไทย; พิจิตรา สมบูรณ์ภัทรกิจ; ศักดา กองพัฒน์พาณิชย์
    การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเหมาะสมของการให้ยาปฏิชีวนะแบบคาดการณ์สำหรับโรคปอดอักเสบติดเชื้อและติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ณ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จังหวัดนครปฐม เก็บข้อมูลจากเวชระเบียนออนไลน์ย้อนหลังจากระบบโปรแกรม SSB ของโรงพยาบาล ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561 ผู้ป่วยตามเกณฑ์การศึกษาได้รับเลือกมาจานวน 292 คน เพื่อทบทวนข้อมูลย้อนหลังและประเมินความเหมาะสมของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแบบคาดการณ์ โดยความเหมาะสมของการใช้ยาจะถูกประเมินตามแนวทางการรักษาโรคติดเชื้อปอดอักเสบ (IDSA Guideline 2007) หรือทางเดินปัสสาวะ (EAU Guideline 2018) และเอกสารกำกับยาแต่ละชนิด หรือผลความไวของยาปฏิชีวนะ ในด้านของชนิด ขนาดและการบริหารยาต้านจุลชีพ โดยเภสัชกรผู้ร่วมวิจัย 2 คนที่เป็นอิสระต่อกัน และมีการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยกับความเหมาะสมของการใช้ยาโดยใช้ Univariate Chi-Square Test ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในช่วงเวลาที่ศึกษามีผู้ป่วยรวม 292 คนได้รับการประเมิน แบ่งเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 165 คนซึ่งได้รับยาอย่างเหมาะสม 129 คน (ร้อยละ 78.2) โดยปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือขนาดยาหรือความถี่ของการบริหารยาไม่เหมาะสม (41 คน คิดเป็นร้อยละ 24.85) และสำหรับโรคปอดอักเสบ (127 คน) มีผู้ป่วยที่ได้รับยาเหมาะสม 44 คน (ร้อยละ 34.6) โดยปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือการเลือกชนิดยาไม่สอดคล้องกับแนวทางการรักษา (40 คน คิดเป็นร้อยละ 31.50) ในโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การใช้ยาอย่างเหมาะสมตามแนวทางการรักษาหรือผลความไวเชื้อสัมพันธ์กับประวัติการได้รับยาปฏิชีวนะแบบครอบคลุมเชื้ออย่างกว้าง (X2=6.54, p=0.01) และประวัติการได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล (X2=14.26, p<0.01) ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่วนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ประวัติการทำหัตถการในระบบทางเดินหายใจ (X2=9.06,p<0.01) และประวัติการติดเชื้อแบบเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ (X2=9.05, p<0.01) นั้นสัมพันธ์กับการใช้ยาอย่างเหมาะสม ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะแบบคาดการณ์นั้นมีความแตกต่างกันระหว่างข้อบ่งใช้ และผู้ป่วยบางกลุ่มอาจมีโอกาสได้รับยาปฏิชีวนะแบบครอบคลุมเชื้ออย่างกว้างที่เหมาะสมมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแพทย์ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ดังนั้นผลวิจัยนี้จึงเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จำเพาะกับโรงพยาบาล ที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาคุณภาพการใช้ยาปฏิชีวนะในอนาคตและใช้กำหนดตัวชี้วัดที่เป็นบรรทัดฐานของโรงพยาบาลภายหลังจากเริ่มดำเนินการโครงการควบคุมกากับดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมต่อไป
  • ItemOpen Access
    กรณีศึกษาแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้านในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอัมพาตครึ่งซีก: ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
    (2017) จิรพร บุญศรีทอง
    การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการให้แผนการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน (Rehabilitation Home Program) สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาตครึ่งซีก ต่อการลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย ได้แก่ 1)ปวดไหล่และไหล่ติด 2) การพลัดตกหกล้ม 3) แผลกดทับ และกำหนดเป็นแนวทางในการบำบัดรักษาผู้ป่วย โดยศึกษาในผู้ป่วย 2 ราย และญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย 2 ราย โดยคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง คือ เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาตครึ่งซีก มีอาการป่วยในระยะ 0-6 เดือน อายุระหว่าง 20 – 90 ปี ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยเป็นคนเดิมตลอดระยะเวลา 3 เดือน โดยผู้ป่วยและญาติจะได้รับแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาตครึ่งซีกในระยะอ่อนปวกเปียก โดยผู้วิจัยติดตามผลทุก 1 เดือน 2 เดือน และ 3 เดือน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบฟอร์มสังเกตญาติหรือผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยขณะปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน แบบสัมภาษณ์ผู้ป่วย ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยต่อแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน แบบประเมิน/บันทึกภาวะแทรกซ้อนระหว่างเข้าร่วมวิจัย และแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน ฯ โดยจะมีการวัดระดับความเจ็บปวด องศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ประเมินแผลกดทับ และการพลัดตกหกล้มของผู้ป่วยในระยะ 3 เดือน มาเปรียบเทียบ และใช้การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นตาราง นอกจากนี้ยังให้ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยทำแบบประเมินซึ่งเป็นข้อสอบจำนวน 24 ข้อ ก่อน และหลังได้รับแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน ฯ เมื่อครบเดือนที่ 3 และนำผลคะแนนมาเปรียบเทียบก่อน และหลัง ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยรายที่ 1 มีอาการปวดไหล่และไหล่ติด โดยผู้ป่วยมีอาการปวดระดับปานกลางจนถึงปวดมาก (Vas Score 5 – 10) และไหล่ติด ตั้งแต่ช่วงกลางถึงช่วงสุดท้ายขององศาการเคลื่อนไหว โดยในการติดตามผลในเดือนที่ 3 พบว่า ผู้ป่วยรายนี้มีข้อไหล่ติดในทุกท่าของการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ โดยมี ความสอดคล้องกับคะแนนจากแบบสังเกตการฝึกปฏิบัติก่อน –หลัง โดยมีคะแนนที่ได้อยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 พบว่ามีอาการปวดไหล่ในเดือนที่ 1 และ 2 ที่ระดับปานกลางถึงน้อย(Vas Score 3 – 5) และไม่พบอาการปวดในเดือนที่ 3 ผู้เข้าร่วมวิจัยมีไหล่ติด ในช่วงสุดท้ายของการเคลื่อนไหวในเดือนที่ 1-2 และไม่พบไหล่ติดในเดือนที่ 3 และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนก่อนและหลังได้รับแผนการฟื้นฟู สมรรถภาพที่บ้านฯ พบว่าคะแนนจากแบบสังเกตการฝึกปฏิบัติก่อน –หลังที่ได้อยู่ในระดับดีถึงดีมาก ญาติผู้ป่วยทั้งสองรายที่เข้าร่วมวิจัย หลังได้รับแผนการฟื้นฟู สมรรถภาพที่บ้านฯ มีคะแนนการทำแบบทดสอบเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยทั้งสองรายไม่พบการพลัดตกหกล้ม และแผลกดทับ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติตามแผนการ ฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้านฯ สามารถลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาตครึ่งซีกได้
  • ItemOpen Access
    การวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ดามขาป้องกันข้อสะโพกเคลื่อนหลุด สำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
    (2017) ศิวรักษ์ ขนอม; นิดา วงศ์สวัสดิ์
    งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ดามขาป้องกันข้อสะโพกเคลื่อนหลุดสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก เนื่องจากผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกจะต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ถูกวิธีและเปลี่ยนแปลงท่าทางต่าง ๆ ในชีวิตประจาวัน งานวิจัยนี้ออกแบบอุปกรณ์ดามขาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนข้อสะโพกเทียมเคลื่อนหลุดที่เกิดในท่านอน ท่านั่ง และการเคลื่อนย้ายตนเองในท่านอนหงายจนมานั่งข้างเตียง โดยออกแบบให้อุปกรณ์ทำจากวัสดุที่หาได้ง่ายในประเทศไทย มีความปลอดภัย ใช้งานง่าย ดูแลรักษาง่าย สามารถปรับขนาดอุปกรณ์ให้เหมาะสมในแต่ละคนได้ และมีราคาไม่แพง จากนั้นนำอุปกรณ์มาตรวจสอบและสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ 10 ท่าน พบว่าหัวข้อรูปทรง น้าหนัก ความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน ความปลอดภัย เคลื่อนย้ายสะดวก ความทนทาน ใช้แล้วได้ประโยชน์ และความคิดเห็นต่อภาพรวมอุปกรณ์มีระดับความเห็นด้วยระดับปานกลางขึ้นไปในทุก ๆ หัวข้อ โดยหัวข้อการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ได้สะดวกมีคะแนนความคิดเห็นมากที่สุดถึงร้อยละ 80
  • ItemOpen Access
    การวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ช่วยออกกำลังกายกล้ามเนื้อเพิ่มความมั่นคงของกระดูกสันหลังสำหรับผู้ป่วยปวดหลัง
    (2024-02-27) นิดา วงศ์สวัสดิ์; ศิวรักษ์ ขนอม
    งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ช่วยออกกำลังกายกล้ามเนื้อเพิ่มความมั่นคงของกระดูกสันหลังสำหรับผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากการออกกำลังกายกล้ามเนื้อเพิ่มความมั่นคงของกระดูกสันหลังเป็นการออกกำลังกายที่ซับซ้อน ผู้ออกกำลังกายไม่สามารถทราบว่าตัวเองออกกำลังกายได้ถูกวิธีหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงพัฒนาอุปกรณ์ช่วยออกกำลังกายกล้ามเนื้อเพิ่มความมั่นคงของกระดูกสันหลังที่สามารถประเมินความถูกต้องในการออกกำลังกายได้ โดยอุปกรณ์ทำจากวัสดุที่หาได้ง่ายในประเทศไทย มีการควบคุมขนาดให้เหมาะสม ใช้งานง่าย ดูแลรักษาง่ายและมีราคาไม่แพง ผลการวิจัยพบว่า ได้อุปกรณ์ช่วยออกกำลังกายที่สามารถบอกความถูกต้องในการออกกำลังกายกล้ามเนื้อเพิ่มความมั่นคงของกระดูกสันหลังและวัดประสิทธิผลการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยออกกำลังกายครั้งที่ 1 (รหัส BS01) พบว่าในกลุ่มทดลองมีความมั่นคงของกระดูกสันหลังและเชิงกรานเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 ของผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 ระดับ การวัดประสิทธิผลการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยออกกำลังกายครั้งที่ 2 (รหัส BS02) พบว่ามีความมั่นคงของกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 92.9 ของผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 ระดับ และมีระดับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังหลังใช้อุปกรณ์ช่วยครบ 12 ครั้งมีค่ามากกว่าก่อนใช้อุปกรณ์ ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 และจากการประเมินความพึงพอใจในการใช้อุปกรณ์พบว่าด้านความปลอดภัยมีคะแนนความพึงพอใจมากที่สุดถึงร้อยละ 82.3
  • ItemOpen Access
    นวัตกรรมเอี๊ยมฝังเข็ม
    (2017) นวลอนงค์ พิมโคตร; Nuananong Pimkhot
    การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษานวัตกรรมที่พยาบาลคิดค้นขึ้น เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานประจำวันให้มีประสิทธิภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของนวัตกรรมเอี๊ยมฝังเข็มและศึกษาความพึงพอใจของทีมฝังเข็มที่มีต่อนวัตกรรมเอี๊ยมฝังเข็ม ที่แผนกแพทย์แผนจีน ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นการศึกษาเชิงทดลองโดยประชากรที่ใช้ในการวิจัยได้แก่พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ที่ปฏิบัติงานในเวลาราชการ (08.00 – 16.00 น.) ที่แผนกแพทย์แผนจีน ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จำนวน 12 คนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ที่ปฏิบัติงานในเวลาราชการ (08.00 – 16.00 น.) ที่แผนกแพทย์แผนจีน ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ที่สมัครใจเข้าร่วมการวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบ 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มควบคุม (ไม่ใส่เอี๊ยมฝังเข็ม) 2.กลุ่มทดลอง (ใส่เอี๊ยมฝังเข็ม)โดยใช้การสุ่มวันที่จากคอมพิวเตอร์เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามความพึงพอใจของแพทย์ พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกระยะเวลาที่ใช้ในการช่วยแพทย์ทำหัตถการฝังเข็มและถอนเข็มวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ Independent Sample T- Test ผลการศึกษาพบว่าการใส่เอี๊ยมฝังเข็มสามารถลดระยะเวลาเฉลี่ยในการช่วยแพทย์ทาหัตถการฝังเข็ม (Mean=7.38, SD=3.672) ลดลงกว่าระยะเวลาเฉลี่ยที่ช่วยแพทย์ทาหัตถการฝังเข็มด้วยวิธีปกติ (ไม่ใส่เอี๊ยมฝังเข็ม) (Mean=10.93,SD=4.884) และระยะเวลาเฉลี่ยในการถอนเข็มโดยการใช้นวัตกรรมเอี๊ยมฝังเข็ม (Mean=3.63, SD=1.171) ลดลงกว่าระยะเวลาเฉลี่ยในการถอนเข็มด้วยวิธีปกติ (ไม่ใส่เอี๊ยมฝังเข็ม) (Mean=5.19,SD=1.822) สำหรับความพึงพอใจของทีมฝังเข็มต่อการใช้เอี๊ยมฝังเข็ม พบว่าค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (มากกว่า 4.20 คะแนน) ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของรูปแบบนวัตกรรม ความสะดวกในการใช้นวัตกรรมและวัสดุที่ใช้ในการทานวัตกรรมเป็นต้น สรุป นวัตกรรม “เอี๊ยมฝังเข็ม”ที่พยาบาลคิดค้นขึ้นเพื่อช่วยแพทย์ทาหัตถการฝังเข็ม และการถอนเข็มสามารถลดระยะเวลาในการฝังเข็ม และการถอนเข็มเพิ่มความพึงพอใจให้กับทีมฝังเข็ม ผลงานนี้สามารถพัฒนาต่อยอดในการใช้เอี๊ยมฝังเข็มช่วยแพทย์ในการฝังเข็มและถอนเข็มในการบริการทางคลินิกทาให้เกิดความรวดเร็วและเกิดความสะดวกแก่ทีมฝังเข็มมากขึ้น และช่วยกระตุ้นให้บุคลากรในหน่วยงานทุกระดับได้เห็นขั้นตอนการทา R2R ซึ่งไม่ยุ่งยากซับซ้อน แต่เป็นการแก้ปัญหาจากงานประจำที่ทำอยู่ทุกวันให้ดีขึ้น ผลงาน “เอี๊ยมฝังเข็ม”เป็นแรงกระตุ้นให้พยาบาลคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆที่ช่วยเสริมการดูแลผู้มารับบริการให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น และรู้สึกภาคภูมิใจในการปฏิบัติงาน
  • ItemOpen Access
    การดำเนินของโรคติ่งเนื้อขนาดกลางในถุงน้ำดี
    (2017) ธาดา ยงค์ประดิษฐ์; ร่มเย็น จิตมุ่งงาน
    ติ่งเนื้อในถุงน้ำดี : (gallbladder polyps) เป็นภาวะที่มีการเจริญยื่นของติ่งเนื้อผิดปกติออกมาจากผนังด้านในของถุงน้ำดีภาวะความผิดปกตินี้มักไม่แสดงอาการและมักพบดดยบังเอญจากการตรวจ อัลตร้าซาวด์ติ่งเนื้อในถุงน้ำดีที่มากกว่า หรือเท่ากับ ๑๐ mm. ถือเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดดมะเร็งของถุงน้ำดีในขณะที่ติ่งเนื้อในถุงน้ำดีที่น้อยกว่า หรือเท่ากับ ๖ mm. แทบจะไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของถุงน้ำดี ในขณะเดียวกันติ่งเนื้อในถุงน้ำดีที่มีขนาดมากกว่า ๖ mm. แต่ไม่เกิน ๑๐ mm. ยังมีการศึกษาถึงน้อย วัตถุปรสงค์ : งานวิจัยนี้มุ่งหวังที่จะเป็นการศึกษาติดตามการดำเนินของโรคในผู้ป่วยที่มีติ่งเนื้อในถุงน้ำดี ขนาดมากกว่า ๖ mm. แต่ไม่เกิน ๑๐ mm. ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาในศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เพื่อนำมาวิเคราะห์และปรับใช้ในการรักษาและติดตามต่อไป ขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย : ผู้ป่วยทุกคนที่มีติ่งเนื้อในถุงน้ำดี ขนาดมากกว่า ๖ mm. แต่ไม่เกิน ๑๐ mm. ที่ได้รับการวินิจฉัยจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ในศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จะได้รับการติดตามอาการที่หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกศัลยกรรมและตรวจอัลตร้าซาวด์ทุก ๖ เดือน จนครบเวลาอย่างน้อย ๒ ปี เพื่อติดตามอาการของผู้ป่วย และการเปลี่ยนแปลงของติ่งเนื้อในถุงน้ำดีผู้ป่วยจะได้รับข้อมูลเพื่อตัดสินใจผ่าตัดเมื่อมีข้อบ่งชี้ อันได้แก่ มีอาการผิดปกติจากถุงน้ำดี, ขนาดของติ่งเนื้อในถุงน้ำดีโตขึ้น, ขนาดของติ่งเนื้อในถุงน้ำดีมากกว่าหรือเท่ากับ ๑๐ mm., มีความผิดปกติของถุงน้ำดีจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ที่แสดงว่ามีการอักเสบหรือหนาตัวผิดปกติของถุงน้ำดี, ผู้ป่วยต้องการผ่าตัด ผลการศึกษา : จาการศึกษานีี้พบผู้ป่วยที่มีติ่งเนื้อในถุงน้ำดี ขนาดมากกว่า ๖ mm. แต่ไม่เกิน ๑๐ mm. ๓๕ รายภายในระยะเวลา ๒ ปี, พบมีสัดส่วนของผู้ป่วยผู็หญิง (๖๐%) มากกว่าผู็ป่วยผู้ชาย (๔๐%), ผู้ป่วยมีดรคร่วมเป็นโรคไขมันในโลหิตสูงถึง ๔๐% และโรคเบาหงาน ๒๐ % ผู็ป่วยที่มีอายุประมาณ ๕๐ ปีขึ้นไป ตรวจพบติ่งเนื้อในถุงน้ำดีได้มากกว่า จากการติดตามผู้ป่วยที่มีตื่งเนื้อในถุงน้ำดีโดยใช้การตรวจอัลตร้าซาวด์ พบว่า ๗๗% ติ่งเนื้อมีขนาดคงที่ไม่โตขึ้น, อัตราการโตของติ่งเนื้อในถุงน้ำดีมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ๐.๐๕ mm. ต่อเดือนม 9 mm.มีอัตราการโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ย ๐.๐๕ mm. ต่อเดือน (๑๐ เท่า) มีผู็ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดถุงน้ำดีตามข้อบ่งชี้ ๕ ราย คิดเป็น ๑๔.๓% ๓ใน ๕ (๖๐%) ได้รับผ่าตัดเนื่องจากขนาดของติ่งเนื้อในถุงน้ำดี ซึ่งตรวจพบร่วมกันกับติ่งเนื้อในถุงน้ำดี อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเท่ากับ ๐% พบ ๑ ราย เป็น adenomatous polyp (premalignant lesion) ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทั้ง ๕ ราย พบว่ามีผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาเข้าได้กับการอักเสบเรื้อรังของถุงน้ำดี (chronic cholecystitis) ทุกรายและไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดหลังผ่าตัด ข้อสรุป ติ่งเนื้อในถุงน้ำดีขนาดมากกว่า ๖ mm. แต่ไม่เกิน ๑๐ mm. ไม่มีอาการผิดปกติ ถ้าไม่มีนิ่วในถุงน้ำดีร่วม โดยมักจะพบติ่งเนื้อในถุงน้ำดีได้ในผู้ป่วยผู้หญิงอายุ ต้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป ที่มีโรคเบาหวานและไขม้นในโลหิตสูง ร่วมด้วยมากกว่า ๒ ใน ๓ มีขนาดคงที่ไม่โตขึ้น จะมีเพียงติ่งเนื้อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มติ่งเนื้อที่ขนาดใกล้กับ ๑๐ mm. ที่มีอัตราการโตเป็น ๑๐ เท่าของปกติ
  • ItemOpen Access
    การประเมินความพึงพอใจต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์วิเคราะห์อัตราการถ่ายภาพรังสีเอกซ์ซ้ำ
    (2023) อิษฏ์ สุบินมงคล; วรนุช เอี่ยมปา; ณัฐพนธ์ แตงภู่; สุรยุทธ เกิดสุข; มหาวิทยาลัยมหิดล. คณะเทคนิคการแพทย์. ภาควิชารังสีเทคนิค
    งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความพึงพอใจที่มีต่อโปรแกรมวิเคราะห์อัตราการถ่ายภาพรังสีเอกซ์ซ้ำที่พัฒนาขึ้น การพัฒนาโปรแกรมเริ่มจากการสร้างฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลที่ป้อนโดยผู้ใช้งาน การสร้างหน้าต่าง user interface เพื่อให้ผู้ใช้งานบันทึกจานวน สาเหตุ และอวัยวะที่ถ่ายซ้ำ การสร้างชุดคาสั่งสาหรับวิเคราะห์และแสดงผลตามที่ผู้ใช้ต้องการ หลังจากนั้น ทดสอบโปรแกรม ประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการใช้งานและประโยชน์ของโปรแกรม โดยผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งสิ้น 18 ราย จำแนกตามสถานะการทางานเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง ศิษย์เก่าของหลักสูตรรังสีเทคนิค (12 ราย) ใช้โปรแกรมโดยกรอกข้อมูลสมมติ กลุ่มที่สอง นักรังสีเทคนิคและผู้ช่วยนักรังสีเทคนิค (6 ราย) ซึ่งปฏิบัติงานเต็มเวลาในหน่วยงานรังสีวินิจฉัยแห่งหนึ่ง ใช้โปรแกรมโดยบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลจริงของแผนก จากการวิเคราะห์ผลการประเมินโดยใช้ Likert scale 5 ระดับ พบว่า ด้านความสะดวกต่อการใช้งาน ความพึงพอใจโดยเฉลี่ยของกลุ่มศิษย์เก่า และกลุ่มนักรังสีเทคนิคและผู้ช่วยนักรังสีเทคนิค คือ มากที่สุด (4.20 คะแนน) และมาก (3.83 คะแนน) ตามลาดับ ด้านประโยชน์ของโปรแกรมที่มีต่อการวิเคราะห์อัตราการถ่ายซ้ำและการลดระยะเวลาการวิเคราะห์ ความพึงพอใจโดยเฉลี่ยของกลุ่มศิษย์เก่า และกลุ่มนักรังสีเทคนิคและผู้ช่วยนักรังสีเทคนิค คือ มากที่สุด (4.50 คะแนน) และมาก (3.83 คะแนน) ตามลาดับ สรุป โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมีแนวโน้มเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้งานจริงหรือผู้ที่จะใช้งาน และเป็นประโยชน์ต่อการบันทึกและวิเคราะห์อัตราการถ่ายภาพรังสีเอกซ์ซ้ำ ควรพัฒนาโปรแกรมต่อไปให้สะดวกต่อผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น และเพิ่มฟังก์ชันสาหรับส่งออกข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ เพื่อการประกันคุณภาพการถ่ายภาพรังสีเอกซ์
  • ItemOpen Access
    ผลของการจัดการความปวดทางกายภาพบำบัดต่อการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
    (2023) สิริจิตต์ รัตนมุสิก; ณีรนุช สินธุวานนท์
    การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลของกายภาพบำบัดต่ออาการปวดหลังผ่าตัดและการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม และศึกษาผลของระดับความเจ็บปวดและพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเทียม ซึ่งเป็นวิธีการวิจัยแบบการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ ศึกษาในผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ณ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ในปี 2564 จำนวน 40 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 20 คนและกลุ่มควบคุม 20 คน กลุ่มทดลองจะได้รับการรักษาด้วยการประคบเย็นและกระตุ้นไฟฟ้ากระแส TENS ก่อนการออกกำลังกายหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม กลุ่มควบคุมจะได้รับโปรแกรมการออกกำลังกายหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม สถิติที่ใช้ในการเปรียบเทียบความปวด และความสามารถในการงอเข่า ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมด้วยสถิติ Independent Sample Test และเปรียบเทียบรายคู่ด้วยสถิติ Pair t-test พบว่าผู้เข้าร่วมวิจัยกลุ่มศึกษา มีระดับความเจ็บปวดลดลงในระยะเวลา 48 ชั่วโมง และมีความสามารถในการงอเข่ามากขึ้นในระยะเวลา 72 ชั่วโมง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p-value 0.05 ในขณะที่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบระดับความปวดและพิสัยการเคลื่อนไหวระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม จากผลการวิจัยพบว่า การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าผ่านผิวหนังมีแนวโน้มลดอาการปวดและเพิ่มพิสัยในการงอเข่าในผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ จึงควรมีการศึกษาการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าผ่านผิวหนังร่วมกับวิธีการลดปวดอื่นด้วย เช่น ร่วมกับการใช้ยาลดปวด
  • ItemOpen Access
    การพัฒนาสื่อต้นแบบสอนยืดเหยียดกล้ามเนื้อแก่ผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดหลัง ปวดเข่า และปวดเท้า
    (2018) จิรพร บุญศรีทอง; วริศรา อินทรแสน
    วัตถุประสงค์: งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาสื่อต้นแบบสอนยืดเหยียดกล้ามเนื้อแก่ผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดหลัง ปวดเข่า และปวดเท้า 2) ประเมินผลการใช้สื่อต้นแบบโดยผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดหลัง วิธีการศึกษา : การวิจัยนี้เป็นการวิจัยพัฒนา (Research & Development) สื่อต้นแบบสอนยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบ่งการดำเนินงานออกเป็นสองระยะ โดยระยะแรกเป็นการพัฒนาสื่อต้นแบบ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ทีมสหวิชาชีพฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู จำนวน 25 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แผ่นพับ แผ่นภาพ และภาพจากอินเตอร์เนต กระดาษและปากกาสำหรับจดบันทึก เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการประชุมกลุ่มเพื่อพิจารณาคัดเลือกท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อ คำอธิบายท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อ รูปแบบสื่อ และบันทึกความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การหสวิเคราะห์เนือ้หาแล้วพัฒนาเ็นสื่อสอนยืดเยียดกล้ามเนื้อต้นแบบ ระยะที่สองเป็นการประเมินการใช้สื่อที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดหลัง ปวดเข่า และปวดเท้า จำนวน 28 คน เลือกแบบตามสะดวก และนักกายภาพจำนวน 10 คน เลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือสื่อต้นแบบจากระยะที่ 1 แบบสังเกตความถูกต้องการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อสื่อต้นแบบ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการให้กลุ่มตัวอย่างทดลองสื่อใช้สื่อ นักวิจัยสังเกตการใช้สื่อและบันทึกลงในแบบสังเกตความถูกต้องการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อสื่อต้นแบบ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยการหาค่าเฉลี่ยร้อยละ ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนือ้หา ผลการศึกษา : ได้สื่อต้นแบบที่สร้างสรรค์ขึ้นเองที่มีลักษณะเป็นแผ่นภาพขนาด A4 จำนวน 5 แผ่นภาพ แต่ละภาพประกอบด้วยท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อจำนวน 4 ภาพ พร้อมข้อความอธิบายท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อแต่ละภาพ เมื่อนำสื่อต้นแบบไปให้ผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดหลัง ปวดเข่า และปวดเท้า และนักกายภาพบำบัดทดลองใช้ พบว่า ผู้ป่วยและนักกายภาพบำบัดมีความพึงพอใจต่อสื่อต้นฉบับเฉลี่ย 4.81 และ 4.43 ตามลำดับ จากคะแนนเต็ม 5 รวมทั้งมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับสื่อด้านบวกคือใช้สื่อสารกับผู้ป่วยได้ง่ายทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ป่วยและนักกายภาพบำบัด ผู้ป่วยสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้ ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อมีความหลากหลาย ด้านที่ควรปรับปรุงคือ ภาพยังไม่สมจริงและไม่ชัดเจน ควรเพิ่มสีบริเวณกล้ามเนื้อที่ยืด ตัวอักษรอธิบายภาพเล็กเกินไป รหัสประจำภาพไม่สื่อความหมายกับกล้ามเนื้อที่ยืด ทำให้ยากต่อการบันทึกเวชระเบียน สื่อมีขนาดใหญ่ยากต่อการพกพา ควรทำเป็นเล่มเล็กๆ บทสรุป : สื่อต้นแบบดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดหลัง ปวดเข่าและปวดเท้า แต่ยังมีข้อบกพร่องบางประการ จึงควรพัฒนาสื่อต้นแบบดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์และเหมาะสมที่จะนำไปใช้งานมากยิ่งขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟูต่อไป